เศรษฐกิจสร้างสรรค์

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

ไฟล์:ITD Creative economy.jpg

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายถึง แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553)

คำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นคำภาษาไทยที่ใช้แทนคำในภาษาอังกฤษหลายๆ คำดังนี้ Creative Economy, Creative Industries, Cultural Industries โดยแต่ละคำในภาษาอังกฤษก็ถูกบัญญัตืขึ้นโดยหน่วยงานหลายๆ หน่วยงาน และมีความแพร่หลายในหลายๆ มิติ (Srisangnam, 2009)

และในร่างกรอบทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2555 - 2559 ก็ได้มีการระบุยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศ 7 ยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์แรก "ยุทธศาสตร์การสร้างฐานการผลิตที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและสมดุล" ที่ได้มีการกล่าวถึงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยตรง โดยสามารถสรุปใจความได้ดังนี้ ประเทศไทยจะเน้นเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้อยู่บนแนวคิดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีการกล่าวถึงการพัฒนาภาคการผลิตสินค้าและบริการบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยส่งเสริมการใช้ความสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ การส่งเสริมและพัฒนาสาขาธุรกิจสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาบุคลากรให้สามารถตอบสนองความต้องการของการภาคการผลิตและบริการทั้งในระดับวิชาชีพเชิงสร้างสรรค์และผู้ประกอบการให้มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาเชิงลึกในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553)

ที่มาและคำจำกัดความของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในต่่างประเทศ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ในมิติต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำจำกัดความของหน่วยงาน และองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับมานำเสนอ ณ ที่นี้

คำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกกล่าวถึงและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลครั้งแรกในประเทศสหราชอาณาจักร โดยในปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) Department of Culture, Media and Sport ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries)" ไว้ว่า “Those industries which have their origin in individual creativity, skill and talent and which have a potential for wealth and job creation through the generation and exploitation of intellectual property.” (Department of Culture, Media and Sport, 2001, p. 04) และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แปลความหมายของคำจำกัดความนี้ว่า “เศรษฐกิจที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่มีรากฐานมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ทักษะความชำนาญ และความสามารถพิเศษ ซึ่งสามารถนำใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างงานให้เกิดขึ้นได้ โดยที่สามารถสั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553)

เมื่อคำคำนี้และแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เริ่มเป็นที่นิยม และเนื่องจากมีส้วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) องค์์การทรัพย์์สินทางปััญญาโลก (World Intellectual Property Organization, WIPO) จึงได้มีการให้คำนิยามของคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ว่า “Industries that include the cultural industries plus all cultural or artistic production, whether live or produced as an individual unit. The creative industries are those in which the product or service contains a substantial element of artistic or creative endeavor." (WIPO, 2003)และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แปลความหมายของคำจำกัดความนี้ว่า “อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ประกอบด้้วยผลิตภัณฑ์์ทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งหมด ทั้งในรูปสินค้าและบริการที่ต้องใช้ความพยายามในการสร้างสรรค์งาน ไม่ว่าจะเป็นการทำขึ้นมาโดยทันทีในขณะนั้น หรือผ่านกระบวนการผลิต และเน้นการปกป้องผลงานผ่าน Copyright”(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553)

องค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลควบคุมและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2 องค์กรหลักได้แก่ UNESCO และ UNCTAD ต่างก็ได้ให้คำจำกัดความของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ดังนี้ คำจำกัดความของ UNESCO เศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ “อุตสาหกรรมที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ความชำนาญ และความสามารถที่มีศักยภาพในการสร้างงานและความมั่งคั่งโดยการผลิตและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา” (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553)

ในขณะที่องค์กรที่ให้คำจำกัดความคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างละเอียด และมีการนำเสนอในรูปแบบของรายงาน อย่างเป็นทางการมากที่สุด คือ UNCTAD ในรายงาน "Creative Economy Report 2008" โดย UNCTAD ได้ให้คำนิยามของคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ดังนี้(UNCTAD, 2008)

"The creative economy is an evolving concept based on creative assets potentially generating economic growth and development. “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแนวความคิดในการสร้างความเจริญเติบโตและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยใช้สินทรัพย์ที่เกิดจากการใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์”

It can foster income generation, job creation and export earnings while promoting social inclusion, cultural diversity and human development. "เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างงาน และสร้างรายได้จากการส่งออก ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"

It embraces economic, cultural and social aspects interacting with technology, intellectual property and tourism objectives. "เศรษฐกิจสร้างสรรค์เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมให้มีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ทรัพยฺ์สินทางปัญญา และการท่องเที่ยว"

It is a set of knowledge-based economic activities with a development dimension and cross-cutting linkages at macro and micro levels to the overall economy. "เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นองค์ความรู้ เกี่ยวข้องกับมิติทางด้านการพัฒนาการ เป็นการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาค และมหภาค"

It is a feasible development option calling for innovative multidisciplinary policy responses and interministerial action. "เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประเทศต้องการนโยบายที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีความหลากหลายทางแนวคิด และต้องการการปฏิบัติงานร่วมกันในทุกๆ หน่วยงาน"

At the heart of the creative economy are the creative industries." "และหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อยู่ที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์"


ขอบเขตและความคลอบคลุมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เนื่องจากมีหลายหน่วยงานและหลายองค์กรที่ให้คำนิยามและให้คำจำกัดความของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้นขอบเขตของภาคการผลิตที่่จะนับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงมีความแตกต่างกันออกไป และในกรณีของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันขอบเขตและความคลอบคลุมของภาคการผลิตที่่จะนับเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ดังนั้นผู้เขียนจึงขอใช้การนำเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในกิจกรรม ปรับกระบวนทัศน์ของประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจัดโดย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับศนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเป็นหลักในการนำเสนอในหัวข้อนี้

ไฟล์:Creative Economy picture1.jpg

จากรูปภาพจะเห็นได้ว่า ในกรณีของประเทศไทยนั้น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความพยายามที่จะเพิ่ม 2 ภาคการผลิตซึ่งแตกต่างจากในกรณีของประเทศอื่นๆ เข้าไปในเศรษซกิจสร้างสรรค์นั่นคือ ภาคการผลิตอาหารไทย และการบริการการแพทย์แผนไทย ซึ่งทั้ง 2 ภาคการผลิตเป็นภาคการผลิตที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สูงเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเวทีการค้าโลก

--Spiti 05:21, 30 กรกฎาคม 2553 (BST)

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553, "ร่างกรอบทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11" [1] Access [29/7/2010].

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, 2553 "Thailand’s Creative Economy" รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเสนอในกิจกรรม ปรับกระบวนทัศน์ของประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดโดย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับศนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ บรรยาย ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ วันที่ 26 มีนาคม 2553

Department of Culture, Media and Sport (2001), “Creative Industries Mapping Document 2001”, [2], London, UK, Access [11/01/2010].

Srisangnam, 2009, "Creative Economy" Lecture note prepared for Korean Study Programme, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand.

World Intellectual Property Organization, WIPO ( 2003), Guide on Surveying the Economic Contribution of the Copyright –Based Industries

UNCTAD (2008), “Creative Economy Report 2008”, [3], Access [11/01/2010].

--Spiti 04:45, 30 กรกฎาคม 2553 (BST)

เครื่องมือส่วนตัว