น้ำมันดิบ (Crude Oil)

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

บทความต่อไปนี้เป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องน้ำมันดิบและการกำหนดราคาน้ำมันดิบในมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ


เนื้อหา

การจำแนกคุณภาพน้ำมันดิบ [1]

โดยปกติแล้วน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาจากใต้พื้นดิน หรือจากใต้ทะเล มักจะเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากการทับถมของซากพืชซากสัตว์โบราณ (ฟอสซิล) ที่หมักหมมทับถมอยู่ในแอ่งระหว่างชั้นหินชั้นดินมานานนมชั่วนาตาปี ซึ่งน้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาได้นี้ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ 100% และพร้อมที่จะนำมากลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม มันยังมีสารเคมีอื่นๆ ผสมปนเปอยู่ด้วย โดยสารตัวหนึ่งที่ต้องกำจัดออกก่อนที่จะนำไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม (เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลที่เราใช้เติมรถยนต์) นั่นคือ กำมะถัน (Sulfur)

กำมะถันคือธาตุตัวเดียวกับที่ทำให้เวลาเราไปเที่ยวน้ำพุร้อนบางแห่งแล้วได้กลิ่นก๊าซไข่เน่านั่นเอง (ในกรณีนั้นคือในแอ่งของชั้นหินหรือชั้นดินนั้นๆ มีตาน้ำอยู่ครับ แล้วน้ำนั้นก็ถูกต้มโดยความร้อนจากใต้พิภพ) กำมะถันเป็นสารที่ต้องสกัดออกไปก่อนในกระบวนการกลั่น มิฉะนั้นมันจะทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยมชนิดต่างๆ ที่เรากลั่นได้จากน้ำมันดิบมีฤทธิ์เป็นกรด ถ้าเอาไปใช้เติมเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ เครื่องยนต์ก็จะสึกกร่อนและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง

เนื่องจากกำมะถันที่ปนอยู่ในเนื้อน้ำมันมักจะอยู่ในรูปของ ก๊าซ hydrogen sulfide ซึ่งมีคุณสมบัติในการกัดกร่อน และเป็นสารที่มีพิษ ดังนั้นน้ำมันดิบที่มีกำมะถันปนอยู่ในสัดส่วนที่สูง มีฤทธิ์เป็นกรด จึงถูกเรียกโดยใช้คำแสลงว่า Sour Crude Oil (Sour แปลว่า รสเปรี้ยว, หรือเป็นคำแสลงแปลว่า ของคุณภาพไม่ดี) แต่ถ้าเป็นน้ำมันดิบที่มีกำมะถันเจือปนอยู่ในสัดส่วนต่ำกว่า 0.5% เราจะใช้ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Sweet Crude Oil (Sweet แปลว่า รสหวาน)

นอกจากน้ำมันดิบจะแตกต่างกันที่การมีกำมะถันเจือปนอยู่มากน้อยแค่ไหนแล้ว ความหนาแน่น หรือความข้น – ความใสของน้ำมันดิบก็เป็นคุณสมบัติที่กำหนดคุณภาพของน้ำมันดิบเช่นเดียวกันครับ น้ำมันดิบที่มีลักษณะเป็นของเหลวที่ไม่ข้นจนเกินไป จะทำให้การกลั่นทำได้ง่ายและต้นทุนการกลั่นก็จะต่ำ ดังนั้นน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นต่ำ ที่เรียกว่า Light Crude Oil นี้จึงมีราคาสูง และในทางตรงกันข้ามน้ำมันดิบที่มีลักษณะหนืดข้น มีความหนาแน่นสูงที่เรียกว่า Heavy Crude Oil ก็จะต้องกลั่นด้วยความยากลำบากและมีต้นทุนในการกลั่นที่สูงขึ้น ดังนั้นน้ำมันดิบประเภทนี้ก็จะมีราคาซื้อขายลดต่ำลงมา


ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก[2]

น้ำมันดิบเป็นหนึ่งในสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Markets) น้ำมันดิบที่ขุดค้นได้ในหลายๆ แหล่งทั่วโลกก็สามารถจำแนกประเภทออกได้ตามระดับความหนาแน่น และปริมาณกำมะถัน ได้เป็นระดับๆ ตามมาตรฐาน และก็ทำการซื้อขายและส่งมอบสินค้าชำระเงินกันในตลาดโภคภัณฑ์หลายๆ แห่งทั่วโลก ยกตัวอย่างตลาดน้ำมันดิบที่สำคัญๆ ที่เป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลกได้แก่


West Texas Intermediate (WTI) น้ำมันดิบคุณภาพสูง มีกำมะถันต่ำ (sweet) มีความหนาแน่นต่ำ (ใส, light) ซื้อขายและส่งมอบกันที่ตลาดในเมือง Cushing, Oklahoma เป็นราคาอ้างอิงที่ใช้ในการกำหนดราคาน้ำมันอ้างอิงในทวีปอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นแล้วยังใช้เป็นราคาสินค้าอ้างอิง (underlying commodity) ในการซื้อขายสัญญาซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้า (oil futures contracts) ในตลาด New York Mercantile Exchange อีกด้วย


Brent Blend เกิดจากการคำนวณราคาเฉลี่ยของราคาน้ำมันจากแหล่งผลิต 15 แหล่งในบริเวณทะเลเหนือ (North Sea) ของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีแอ่งน้ำมันของประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ค และเยอรมัน น้ำมันดิบที่ซื้อขายในตลาดนี้จะมีระดับราคาเฉลี่ยสูงกว่าในตลาดอื่นๆ เนื่องจากแหล่งน้ำมันในทะเลเหนืออยู่ใต้ดินในระดับที่ลึกมากกว่าแหล่งอื่นๆ และเป็นแหล่งที่มีการขุดเจาะน้ำมันมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว ดังนั้นแท่นขุดเจาะในบริเวณนี้จึงมีอายุเฉลี่ยที่สูงและกำลังการผลิตมีไม่สูงนัก ทำให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในตลาดนี้เป็นน้ำมันคุณภาพดี (Light Sweet Crude Oil) ด้วยต้นทุนที่สูงและยังถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงในทวีปยุโรป, แอฟริกา และในตะวันออกกลาง มีการประมาณการกันว่า 2 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันในตลาดโลกทุกวันนี้จะอ้างอิงราคาจากราคา Brent Blend นี้


Dubai-Oman เป็นราคาอ้างอิงที่ได้จากการซื้อขายน้ำมันดิบที่มีความใสแต่คุณภาพต่ำ (Light sour crude oil) เนื่องจากมีกำมะถันในปริมาณสูง แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบก็มักจะถูกใช้มักใช้เป็นราคาอ้างอิงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในการซื้อขายน้ำมันดิบในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นน้ำมันดิบที่สามารถส่งมอบได้เลยทันที เนื่องจากผู้ผลิตเดินเครื่องผลิตน้ำมันอยู่แล้วตลอดเวลา


Tapis ราคาอ้างอิงที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นต่ำ (light) ที่ผลิตจากแหล่งบริเวณ Far East oil ซึ่งครอบคลุมแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไร


Minas ราคาอ้างอิงที่ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับน้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นสูง (Heavy) ที่ผลิตจากแหล่ง Far East oil


The OPEC Reference Basket ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการผลิตของประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC (The Organization of the Petroleum Exporting Countries) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทั้ง 12 ประเทศอันได้แก่ อัลจีเรีย, แองโกล่า, เอกวาดอร์, อีหร่าน, อีรัค, คูเวต, ลิเบีย, ไนจีเรีย, กาตาร์, ซาอุดิอาราเบีย, สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต และเวเนซูเอลาร์


ราคาน้ำมันดิบ [3]

ไฟล์:oilprice.jpg

ปัจจัยที่กำหนดราคาน้ำมันดิบสามารถจำแนกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ปัจจัยทางด้านอุปทาน และ ปัจจัยอื่นๆ โดยสามารถพิจารณาการปรับตัวของราคาน้ำมันได้จากกราฟด้านบน


ถ้าเราตัดผลของเงินเฟ้อออกไปโดยใช้ค่าเงินของปี 2550 เป็นค่าเงินมาตรฐาน เราพบว่าเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1949) ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับประมาณ 19.04 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (โดยราคาที่ซื้อขายในขณะนั้นเมื่อคิดเป็นมูลค่าเงินในขณะนั้นอยู่ที่ 2.77 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น) แต่ราคานี้กลับปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2 เท่าคือมาอยู่ที่ 5.11 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี ค.ศ. 1973 (หรือคิดเทียบเท่ากับ 40.84 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลด้วยค่าเงินปัจจุบัน) เมื่อกลุ่มโอเปค (ในขณะนั้นประเทศสมาชิกคือ กลุ่มประเทศอาหรับ, อียิปต์ และซีเรีย) ประกาศรวมตัวกันและกำหนดนโยบายการส่งออกน้ำมันแบบผู้ผูกขาด (Cartel Forming) ทำการลดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เราเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า “วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1” หรือ “1973 Oil Crisis”


หลังจากนั้นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1979 เมื่อเกิดการรัฐประหารในอิหร่าน และการขึ้นครองอำนาจของโคไมนี่ (Ayatollah Khomeini) และทำให้นโยบายการผลิตและส่งออกน้ำมันของอิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลกขณะนั้นลดการผลิตลงอย่างมากจาก 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสู่ระดับ 39.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในช่วงระหว่างปี 1979 – 1980 (หรือคิดเทียบเท่ากับ 98.07 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลด้วยค่าเงินปัจจุบัน) ซึ่งวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 นี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทยที่เริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการจัดตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2521


ช่วงครึ่งแรกของทศวรรษที่ 1980 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 (1979 – 1980) ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นอีกเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ 2 รายเกิดสู่รบกันเองในสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980 – 1988) แต่อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1980 ราคาน้ำมันดิบก็เริ่มปรับตัวลดลงเรื่อยๆ อีกครั้ง เนื่องจากสมาชิกกลุ่มโอเปคเองก็เริ่มที่จะแอบสูบน้ำมันขึ้นมาขายมากกว่าโควตาที่ตนได้รับจากการจัดตั้ง Cartel (หรือการรวมหัวกันเพื่อผูกขาดการกำหนดปริมาณน้ำมันดิบที่จะออกขาย) โดยเฉพาะซาอุดิอาราเบียที่เริ่มเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มการเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลก


ช่วงทศวรรษที่ 1990 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย แต่ระดับราคาน้ำมันก็ไม่ได้เกิดการปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดภาวะวิกฤตแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกลุ่มโอเปคไม่สามารถร่วมมือกันกำหนดราคาและโควตาการผลิตได้อย่างแข็งแกร่งเท่าเดิมอีกแล้ว


เหตุการณ์ 9-11 (การก่อการร้ายถล่มตึก World Trade Centre กลางมหานครนิวยอร์กในวันที่ 11 เดือนกันยายน 2001) อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลกอีกหนึ่งครั้งและก็เป็นครั้งที่ส่งผลต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันนี้ด้วย สาเหตุของการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันในรอบปัจจุบันเกิดขึ้นทั้งจากสาเหตุทางด้านอุปสงค์ (Demand Pull) และอุปทาน (Cost Push)


อุปสงค์ต่อการบริโภคน้ำมันดิบประตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากเศรษฐกิจที่เกิดการขยายตัวอย่างมหาศาลในประเทศที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศที่มีคนขับรถมากที่สุดในโลกและนิยมใช้กันแต่เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ๆ นั่นคือสหรัฐอเมริกา ทำความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยอัตราการขยายตัวของความต้องการบริโภคน้ำมันที่เคยเพิ่มขึ้นประมาณ 1.76%ต่อปีในช่วงระหว่าง 1994 – 2006 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเป็นความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 37% ในช่วงระหว่างปี 2006 – 2007


โดยในปี 2006 ความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ระดับ 86 ล้านบาร์เรลต่อวัน และประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกาที่ระดับ 20.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณกว่า 1 ใน 5 ของการบริโภครวมของทั้งโลก โดยประเทศผู้บริโภคน้ำมันขนาดใหญ่ในลำดับรองลงมาและปริมาณการบริโภคน้ำมัน ได้แก่ จีน (7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ญี่ปุ่น (5.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซีย (2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เยอรมัน (2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอินเดีย (2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันประมาณ 9.2 แสนบาร์เรลต่อวัน และตัวเลขการบริโภคน้ำมันโดยรวมของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 118 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2007 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไป


แต่อุปทานของน้ำมันดิบกลับไม่สามารถปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในแหล่งต่างๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความยากลำบากในการหาแหล่งน้ำมันดิบใหม่ๆ ซึ่งแทบจะไม่ค้นพบเลยตั้งแต่หลังช่วงทศวรรษที่ 1980 ประกอบกับการขาดการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ปัจจุบันแท่นขุดเจาะน้ำมันหลายๆ แหล่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุการใช้งานประมาณ 30 – 40 ปีเริ่มทยอยหมดอายุทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต (Capacity) ในขณะเดียวกันการสำรวจหาแหล่งน้ำมันดิบแหล่งใหม่ และการสร้างแท่นขุดเจาะใหม่ก็ต้องใช้เวลาที่ยาวนานพอสมควร แม้ว่าในบริเวณไซบีเรีย และในภาคตะวันตกของจีนจะยังมีแหล่งน้ำมันดิบอยู่แต่การนำออกมาใช้ก็มีต้นทุนที่สูงมาก


โดยในปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุด 5 อันดับแรกและปริมาณการผลิตเป็นดังนี้ ซาอุดิอาราเบีย (10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซีย (9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) สหรัฐอเมริกา (8.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) อิหร่าน (4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และจีน (3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน)


ประเทศไทยเองก็สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่เพียงพอกับที่เราต้องการใช้เท่านั้นเอง ไทยเราผลิตน้ำมันได้ประมาณ 3.3 แสนบาร์เรลต่อวันแต่เราใช้น้ำมันประมาณ 9.2 แสนบาร์เรลต่อวัน (หวังว่าไทยจะผลิตได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอกับความต้องการในอนาคต เมื่อประเทศไทยสามารถนำทรัพยากรพลังงานในอ่าวไทยขึ้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่)


ส่วนประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก 10 ประเทศแรกคือ กลุ่มเอเปค โดยมีรัสเซีย นอร์เวย์ และเม็กซิโก แทรกเข้ามาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 2, 3 และ 10 ตามลำดับ


แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะกลไกตลาดตามปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานเท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่แทรกแซงกลไกตลาด เช่น การเก็งกำไรของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทอีกด้วย การโยนความผิดเรื่องราคาน้ำมันดิบสูงเกินไปให้กลุ่ม OPEC ที่มีการกำหนดโควตาการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสียทั้งหมด เนื่องจากในความเป็นจริงประเทศสมาชิกโอเปคก็เป็นเพียงเจ้าของแหล่งน้ำมันเท่านั้น และทุกประเทศสมาชิกก็พร้อมที่จะแอบสูบน้ำมันขึ้นมาขายมากกว่าโควตาที่ตนได้รับอยู่แล้ว และจากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เราพบว่ากลุ่มโอเปคเริ่มสูญเสียความสามารถในการกำหนดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลกไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนทศวรรษที่ 1990 เราพบว่าในปัจจุบัน (ปี 2009) น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในโลกมีประมาณ 33.3% หรือ 1 ใน 3 ที่ผลิตในกลุ่มโอเปค ในขณะที่อีก 23.8% หรือ 1 ใน 4 ผลิตโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) อันได้แก่กลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อีก 14.8% ผลิตจากประเทศที่เคยเป็นอยู่ในกลุ่มโซเวียต (Post-Soviet states) ดังนั้นปริมาณการผลิตของโอเปคที่ลดต่ำลงนี้ทำให้อำนาจการต่อรองของกลุ่มเอเปคในการกำหนดราคายิ่งลดต่ำลงอีก


หากแต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กลับถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันเพียงไม่กี่บริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบ และเป็นเจ้าของทั้งแท่นขุดเจาะและเป็นเจ้าของโรงกลั่นอีกด้วย นั่นคือบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถควบคุมกระบวนการผลิตเกือบได้ทั้งหมดของกระบวนการผลิตตั้งแต่แหล่งขุดเจาะ จนถึงสถานีบริการน้ำมัน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า กลุ่ม “Supermajor” ซึ่งมีทั้งหมด 6 บริษัทและทั้ง 6 บริษัทนี้ก็มักจะทำนโยบายไปในทิศทางเดียวกันเพื่อทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และสร้างโอกาสในการเก็งกำไรอยู่เสมอ โดยสมาชิกทั้ง 6 ของกลุ่มนี้และตัวย่อที่ใช้ในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์คและสัญชาติของบริษัทเหล่านี้ ได้แก่ ExxonMobil (XOM, บริษัทสัญชาติอเมริกัน), Royal Dutch Shell (RDS, บริษัทสัญชาติเนเธอแลนด์และสหรัฐราชอาณาจักร) British Petroleum (BP, บริษัทสัญชาติสหรัฐราชอาณาจักร) Chevron Corporation (CVX, บริษัทสัญชาติอเมริกัน), ConocoPhillips (COP, บริษัทสัญชาติอเมริกัน) และ Total S.A. (TOTบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส)


ไฟล์:oilcompanylogo.jpg


พิจารณาชื่อบริษัทและสัญชาติแล้ว และเมื่อรวมกับการซื้อขาย การเล่นข่าว ผลทางจิตวิทยา เพื่อการเก็งกำไรในซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า Oil Future ในนิวยอร์ค เราคงบอกว่าโอเปคเป็นตัวการทำให้น้ำมันแพงแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้อีกแล้ว


ดังนั้นจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้งในด้านกลไกตลาดและการเก็งกำไรจากบริษัทผู้ผูกขาดกลุ่ม Supermajor น้ำมันดิบจึงพุ่งขึ้นสู่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2008 แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักก็เริ่มพยากรณ์แล้วว่าราคาน้ำมันอาจจะขึ้นอีกรอบ


--Spiti 05:56, 19 สิงหาคม 2553 (BST)

เอกสารอ้างอิง

  1. http://mblog.manager.co.th/piti31/Sour-Sweet-6/
  2. http://mblog.manager.co.th/piti31/Sour-Sweet-6/
  3. http://mblog.manager.co.th/piti31/OPEC/
เครื่องมือส่วนตัว