การกินอาหาร

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

การกินอาหาร

ผลของอุณหภูมิแวดล้อมสูงต่อพฤติกรรมการกินอาหาร

    การกินอาหารเป็นพฤติกรรมพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตในประจำวัน ซึ่งปัยจัยที่มาควบคุมการกินอาหารนั้นพบว่ามีหลายปัยจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อารมณ์ วัฒนธรรมทางสังคม และความแตกต่างของเพศ อุณหภูมิก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอาหาร มีข้อบ่งชี้ว่าการอาศัยอยู่ภายใต้อุณหภูมิแวดล้อมช่วงสบาย (thermal comfort state) เป็นเวลานานส่งผลต่อสมดุลของพลังงานของร่างกายและทำให้มีแนวโน้มการเกิดโรคอ้วนสูงขึ้น แต่เมื่ออุณหภูมิแวดล้อมสูงขึ้น (high ambient temperature, HTa) พฤติกรรมการกินอาหารมีแนวโน้มที่ลดลง  
    จากการศึกษาผลของ HTa ที่ความต่างจากระดับอุณหภูมิควบคุม (ΔTa) ที่10 องศาเซลเซียส และ 15 °C องศาเซลเซียส ต่อการกินอาหาร และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยาของร่างกาย เช่น อุณหภูมิกาย (body temperature, Tb) และค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit, Hct) ในหนูแรท พบว่าสัตว์ที่อยู่ในระดับอุณหภูมิ ΔTa = 10 °C (30°C) จากอุณหูมิแวดล้อมปกติที่หนูอาศัยอยู่ที่ 20°C เป็นเวลา 1 ชั่วโมง การกินอาหารจะน้อยกว่า ในขณะที่ค่า Hct และ Tb ไม่แตกต่างกันเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม สำหรับสัตว์ที่อยู่ในระดับอุณหภูมิ ΔTa = 15 °C (35°C) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบการกินอาหาร ค่า Hct ที่น้อยกว่า และค่า Tb ที่สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสาคัญ และเมื่อศึกษากลไกทางสรีรวิทยาเพิ่มเติมที่ ΔTa= 10 °C (30°C) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของออสโมลาริตี้ (osmolarity) อิเล็คโทรไลต์ (electrolytes) ระดับอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิค ฮอร์โมน (adrenocorticotropic hormone) และระดับสารคอติโคโทรปินรีลิสซิ่งฮอร์โมน (corticotropin releasing hormone, CRH) ซึ่งเป็นสารที่ใช้บ่งชี้ถึงความเครียดที่สมองบริเวณพาราเวนตริคิวลาร์ นิวเคลียส ของไฮโปทาลามัส (paraventricular nucleus of hypothalamus, PVN) 
    การศึกษาบริเวณสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหารที่เกิดขึ้นจากการเผชิญ ΔTa= 10 °C (30°C) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พบว่ามีการกระตุ้นให้เกิดการทำงานของสมองที่บริเวณ มีเดียน พรีออปติก นิวเคลียส (median preoptic nucleus, MnPO) บริเวณ อาร์คูเอท นิวเคลียส (arcuate nucleus, Arc) บริเวณ ดอโสมีเดียล ไฮโปทาลามิก นิวเคลียส (dorsomedial hypothalamic nucleus, DMH), บริเวณ เวนโทรมีเดียล ไฮโปทาลามิก นิวเคลียส (ventromedial nucleus of hypothalamus, VMH), และบริเวณ นิวเคลียส แทรคทัส โสลิทาเรียส (nucleus tractus solitarius, NTS) กลไกที่ควบคุมปรากฏการณ์ข้างต้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นผ่านวิถีของนิวเคลียส MnPO และ Arc (MnPO-Arc pathway) ประโยชน์จากการศึกษากลไกทางสรีรวิทยาของ HTa ต่อพฤติกรรมการกินอาหารนั้นในครั้งนี้มีความน่าสนใจในแง่ที่อาจเชื่อมโยงสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนในปัจจุบันและองค์ความรู้นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโรคอ้วนได้
เครื่องมือส่วนตัว