รัตนปรีกษา

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

รัตนปรีกษา เป็นคำภาษาสันสกฤต (ส.รตฺนปรีกฺษา) ประกอบรูปจาก รตฺน “ของมีค่า” กับ ปรีกฺษา “การตรวจสอบ การทดสอบ” รัตนปรีกษาจึงหมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบ พิจารณา และประเมินค่าอัญมณี ตรงกับคำ Gemology ในภาษาอังกฤษ และ อัญมณีวิทยา ในภาษาไทย คำ “รัตนปรีกษา” ยังใช้เรียกตำราภาษาสันสกฤตที่ว่าด้วยเรื่องอัญมณีวิทยาโดยตรง (Gemological Text) วรรณคดีสันสกฤตเรื่องกามสูตรซึ่งวาตสยายนะแต่งขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ระบุว่า รัตนปรีกษาเป็นหนึ่งในศิลปศาสตร์ 64 ประการ วรรณคดีสันสกฤตบางเรื่องซึ่งอ้างถึงความรู้เกี่ยวกับรัตนปรีกษาเอาไว้ด้วย เช่น อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะ กาทัมพรีของพาณะ รวมถึงวรรณคดีพุทธศาสนาเรื่องทิพยาวทาน ได้แสดงถึงความสำคัญของรัตนปรีกษาว่าเป็นศาสตร์ที่พระราชา เจ้าพนักงานพระคลัง และพ่อค้าควรศึกษาหาความรู้


ประวัติความเป็นมาของตำรารัตนปรีกษา

ตำรารัตนปรีกษาฉบับแรกในประวัติวรรณคดีสันสกฤต คือ ตำรารัตนปรีกษาของพุทธภัฏฏะ มีลักษณะเป็นเอกสารโบราณ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นตำราที่นักปราชญ์อินเดียโบราณในสมัยหลังยึดถือเป็นต้นแบบในการแต่งตำรารัตนปรีกษา ตอนต้นของตำราระบุว่า รัตนปรีกษาฉบับนี้เป็นเนื้อหาฉบับย่อของ “รัตนศาสตร์” ซึ่งเป็นตำรารัตนปรีกษาที่มีมาก่อน แต่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ รัตนปรีกษาของพุทธภัฏฏะจึงเป็นตำรารัตนปรีกษาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน

ตำรารัตนปรีกษาอีกฉบับหนึ่งเป็นเรื่องแทรกในคัมภีร์ครุฑปุราณะ ใช้ชื่อว่า รัตนปรีกษาธยายะ สันนิษฐานว่ารวบรวมขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 8-10 รัตนปรีกษาธยายะนี้เป็นตำรารัตนปรีกษาที่คัดลอกมาจากตำรารัตนปรีกษาของพุทธภัฏฏะแทบทั้งฉบับโดยไม่ได้อ้างอิงที่มา แต่ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ภาษาในบางบทตอนให้สอดคล้องกับประเพณีฮินดู ยกตัวอย่างเช่น รัตนปรีกษาของพุทธภัฏฏะขึ้นต้นด้วยคำนมัสการพระรัตนตรัย ในขณะที่รัตนปรีกษาธยายะในครุฑปุราณะขึ้นต้นด้วยข้อความซึ่งอ้างถึงฤษีวยาสะ ผู้รวบรวมคัมภีร์ครุฑปุราณะ นอกจากนี้ถ้อยคำที่เกี่ยวกับเทพเจ้าก็ล้วนเป็นชื่อของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด (ไวศณพนิกาย) เพื่อให้สอดคล้องกับคัมภีร์ครุฑปุราณะซึ่งเป็นปุราณะในนิกายดังกล่าว


เนื้อหาสาระของตำรารัตนปรีกษา

เนื้อหาสาระของตำรารัตนปรีกษาเป็นความรู้เกี่ยวกับอัญมณีสำคัญของอินเดีย 13-14 ชนิด แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้ 5 หัวข้อ ได้แก่

1. การกำเนิด หมายถึง เรื่องราวความเป็นมาของอัญมณีแต่ละชนิด หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอัญมณีชนิดนั้น ๆ บนโลก การอธิบายกำเนิดได้อ้างอิงตำนานพลาสูรผู้ถูกไฟในยัชญพิธีแผดเผาจนอวัยวะแต่ละส่วนของร่างกายกลายสภาพเป็นอัญมณี เพื่อสร้างความเชื่อที่ว่า อัญมณีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่ามาก ตำนานพลาสูรนี้สัมพันธ์กับทฤษฎีการกำเนิดอัญมณีในทางอัญมณีวิทยาปัจจุบัน

2. แหล่งกำเนิด หมายถึง สถานที่ตามธรรมชาติที่อัญมณีฝังตัวอยู่ ทั้งนี้ยังครอบคลุมถึงแหล่งซื้อขายอัญมณีด้วย แหล่งกำเนิดของอัญมณีในตำรารัตนปรีกษามักเป็นแหล่งในดินแดนชมพูทวีป

3. คุณสมบัติ หมายถึง ลักษณะทางกายภาพของอัญมณี ครอบคลุมด้านสี รัศมี รูปทรง ความบริสุทธิ์ และความแข็ง อัญมณีที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ดังนี้

ด้านสี สีของอัญมณีจะต้อง เข้ม สดใส ไม่ซีดจาง เนื้อสีสม่ำเสมอ และมีความงดงามตามธรรมชาติ ด้านรัศมี อัญมณีที่งดงามจะสามารถเปล่งประกายแสงได้งดงามเจิดจ้า ด้านรูปทรง อัญมณีจะต้องมีรูปทรงสมส่วนเหมาะเจาะทุกด้าน ด้านความบริสุทธิ์ อัญมณีควรปราศจากตำหนิ เช่น จุด เส้น รอยแตก คราบสกปรก อัญมณีที่มีตำหนิแต่สามารถขจัดออกได้ด้วยการเจียระไนก็นับว่าเป็นอัญมณีที่บริสุทธิ์ ด้านความแข็ง ตรวจสอบได้โดยนำอัญมณีที่ต้องการตรวจสอบมาขูดข่วนกัน อัญมณีที่แข็งมากกว่าย่อมขูดข่วนอัญมณีที่แข็งน้อยกว่าให้เป็นรอยได้

4. อานุภาพ หมายถึง พลังอำนาจของอัญมณีที่มีผลต่อชีวิตของผู้สวมใส่ อัญมณีมีอานุภาพทั้งด้านคุณและโทษ อานุภาพด้านคุณเกิดจากคุณสมบัติที่ดีของอัญมณี

5. ราคา คือค่าของอัญมณีที่เทียบเป็นเงินตรา ประเมินตามน้ำหนักซึ่งมีหน่วยวัดเป็นหน่วยเมล็ดพืช โดยทั่วไปอัญมณีที่มีน้ำหนักมากจะมีราคาสูงกว่าอัญมณีที่มีน้ำหนักน้อย

นอกจากนี้ ในเนื้อหาการตรวจสอบอัญมณีบางตอนยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงคุณภาพอัญมณี ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนเพื่อให้มีรูปทรงสมส่วน เพื่อให้ส่องประกายรัศมีได้มากขึ้น หรือเพื่อขจัดตำหนิที่ไม่พึงประสงค์ออกไป การนำอัญมณีมาหุงเพื่อทำความสะอาดและเจาะรูได้สะดวกสำหรับไข่มุก รวมถึงการนำอัญมณีมาขึ้นเรือนทำเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ แหวน เพื่อสวมใส่ในพิธีกรรมทางศาสนา


อัญมณีชนิดต่าง ๆ ในรัตนปรีกษา

อัญมณีที่มีคำอธิบายในตำรารัตนปรีกษา ได้แก่ เพชร (ส.วชฺร) ไข่มุก (ส.มุกฺตา) ทับทิม (ส.ปทฺมราค) มรกต (ส.มรกต) เศษะ (ส.เศษ; มีเฉพาะในตำรารัตนปรีกษาของพุทธภัฏฏะ) ไพลิน (ส.อินฺทฺรนีล) ไพฑูรย์ (ส.ไวฑูรฺย, ไวทูรฺย) บุษราคัม (ส.ปุษฺยราค, ปุษฺปราค) กรรเกตนะ (ส.กรฺเกตน) พลอยภีษมะ (ส.ภีษฺมมณิ) โกเมน (ส.ปุลก) หินสีเลือด (ส.รุธิร) หินเขี้ยวหนุมาน (ส.สผฏิก) และประพาฬ (ส.วิทรุม)

เครื่องมือส่วนตัว