การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกกรณีศึกษาสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

บทนำ

     จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีจังหวัดหนึ่งของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับโลกโดยในปีหนึ่งๆ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนประมาณ 5-7 ล้านคน   และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วไปของจังหวัดจึงขึ้นอยู่กับธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก จังหวัดเองมีศักยภาพความพร้อมด้านการค้าและการลงทุน เกิดการลงทุนธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการเติบโตตามภาวะการขยายตัวของการท่องเที่ยว การลงทุนมากมายจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก มีการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามมาเพื่อรองรับงานงานก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
     แนวโน้มโดยรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป ส่งผลต่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในจังหวัดภูเก็ต และการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจการก่อสร้างนั้นมีการเติบโตเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการก่อสร้าง จึงทำให้เกิดคำถามในงานวิจัยว่าลักษณะของการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกที่จังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นอย่างไร
     งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อมูลการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต และเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต ระเบียบวิธีวิจัยใช้การสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานสถาปนิก โดยศึกษาสำนักงานสถาปนิกที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมและตั้งสำนักงานที่จังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานสถาปนิกนั้นต้องมีผู้บริหารที่เป็นสถาปนิกและถือสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 คน และศึกษาเฉพาะสำนักงานที่ให้บริการการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นหลัก สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานสถาปนิกกลุ่มตัวอย่างได้ 21 แห่ง เครื่องมือในการวิจัยใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างในการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบ่งประเด็นหลักของแบบสัมภาษณ์เป็นดังนี้ ส่วนที่ 1 ข้อมูลผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ ส่วนที่ 2 ข้อมูลทั่วไปของสำนักงาน ส่วนที่ 3 การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิก ส่วนที่ 4 ปัญหาและอุปสรรค ส่วนที่ 5 ข้อเสนอแนะอื่นๆ โดยนำข้อมูลในประเด็นดังกล่าวที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์และสรุปผลการวิจัยต่อไป

สรุปข้อมูลการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต ผู้วิจัยสามารถสรุปและวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

1. ข้อมูลผู้ตอบแบบสัมภาษณ์

     ผู้บริหารสำนักงานสถาปนิกส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน 18 ท่าน และมีเพศหญิง 3 ท่าน และผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 30-40 ปี รองลงมาอยู่ในช่วง 41-50 ปี ภูมิลำเนาของผู้บริหารนั้น ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯและภาคกลาง จำนวน 7 ท่าน รองลงมา คือ จากภาคใต้ จำนวน 5 ท่าน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ จำนวน 4 ท่าน และมีภูมิลำเนาที่ภูเก็ตจำนวน 3 ท่าน และจากภาคเหนือ 1 ท่าน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่มาจัดตั้งและเป็นผู้บริหารสำนักงานนั้นเป็นคนต่างจังหวัด
     	พื้นฐานด้านการศึกษา ผู้บริหารส่วนใหญ่จบปริญญาตรีในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก แต่มี 1 ท่าน ที่จบปริญญาตรีในสาขาภูมิสถาปัตยกรรม และมีผู้บริหารจบการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 6 ท่าน ในเรื่องตำแหน่งการบริหารงานในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ผู้บริหาร 19 ท่าน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยมี 16 ท่านที่เป็นผู้ก่อสร้างสำนักงานมาตั้งแต่เริ่มต้น และมี 2 ท่านที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ จึงทำให้ตอบคำถามและให้ข้อมูลได้ในเชิงลึกมีความน่าเชื่อถือ
     ด้านภูมิหลังการประกอบวิชาชีพนั้น ผู้บริหารสำนักงานสถาปนิกส่วนใหญ่ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว 5-10 ปี และส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพสายงานสถาปัตยกรรม ก่อนออกมาก่อตั้งสำนักงานเป็นของตนเอง ส่วนประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้วน้อยกว่า 5 ปี แรงจูงใจในการมาปฏิบัติวิชาชีพที่จังหวัดภูเก็ตของผู้บริหาร โดยส่วนใหญ่เห็นว่าศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตเป็นแรงจูงใจในการมาทำงาน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและงานก่อสร้างที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีงานออกแบบตลอดเช่นกัน แรงจูงใจต่อมา คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่สูง เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่มีค่าครองชีพสูงและผลประโยชน์ค่าจ้างก็สูงด้วยจึงส่งผลกับการมาทำงานที่จังหวัดภูเก็ต

2. ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงาน

     ระยะเวลาดำเนินงานของสำนักงาน (จนถึง พ.ศ.2556) สำนักงานส่วนใหญ่มีระยะเวลาดำเนินงานน้อยกว่า 5 ปี ลำดับต่อมาซึ่งใกล้เคียงกันอยู่ในช่วง 5-9 ปี ระยะเวลาดำเนินงานสำนักงานที่น้อยที่สุด คือ 1 ปี และมากที่สุด คือ 16 ปี มีสำนักงาน 19 แห่งที่จดทะเบียนสำนักงาน และมี 2 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนสำนักงาน เรื่องแรงจูงใจในการก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก ผู้บริหารส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าปัจจัยที่ทำให้จัดตั้งสำนักงานสถาปนิกขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการมีงานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์มีแนวทางของตนเอง และเพื่อรองรับงานที่เกิดขึ้น โดยมีงานเกิดขึ้นมากจึงต้องทำเป็นรูปแบบสำนักงาน จำนวนผู้บริหารที่ทำหน้าที่บริหารและดำเนินงานในสำนักงาน ส่วนใหญ่มีจำนวนมากกว่า 1 คน โดยมีสำนักงาน 6 แห่งที่มีผู้บริหารคนเดียว ทุกสำนักงานมีผู้บริหารที่เป็นสถาปนิก ส่วนใหญ่จำนวน 1-2 คน ขนาดของสำนักงานส่วนใหญ่เป็นสำนักงานขนาดเล็ก คือ มีบุคลากรรวม 5-10 คน ส่วนลักษณะกิจการของสำนักงานสถาปนิกกลุ่มตัวอย่างนั้น ส่วนใหญ่เป็นระบบผู้ถือหุ้นหลักกลุ่มเดียว และรองลงมาจะเป็นระบบเจ้าของคนเดียว
     พบว่าชนิดงานที่ให้บริการในสำนักงานกลุ่มตัวอย่างนั้น ให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักทุกสำนักงาน และให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในด้วยถึง 20 แห่ง และมีสำนักงานที่ให้บริการในงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจำนวน 8 แห่ง และยังมี 2 แห่งที่ให้บริการออกแบบผังเมือง มีสำนักงาน 5 แห่ง ที่มีงานอื่นๆ ให้บริการร่วมด้วย เช่น  การจัดนิทรรศการ  การออกแบบและทำเฟอร์นิเจอร์ การเขียนแบบก่อสร้าง การออกแบบกราฟิก โดยสำนักงานส่วนใหญ่ จะให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักควบคู่ไปกับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และทุกสำนักงานให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักควบคู่ไปกับงานอื่น ไม่มีสำนักงานใดให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักเพียงอย่างเดียว ในเรื่องขอบเขตงานที่รับผิดชอบในการให้บริการของสำนักงานนั้น ทุกสำนักงานให้บริการการออกแบบโครงการเป็นหลัก และส่วนใหญ่มีการศึกษาโครงการควบคู่ไปด้วย
     ประเภทงานออกแบบของสำนักงานกลุ่มตัวอย่าง 3 อันดับแรก ที่สำนักงานส่วนใหญ่เคยให้บริการและออกแบบในปัจจุบันเป็น 1.งานออกแบบบ้านพักอาศัย 2.งานออกแบบรีสอร์ทหรือโรงแรม 3.งานออกแบบคอนโดมิเนียมหรือ    อพาร์ทเมนท์ ขนาดของโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก เป็นงานบ้านพักอาศัย  รีสอร์ทขนาดเล็ก รองลงมาเป็นโครงการขนาดกลาง เป็นงานรีสอร์ทและโรงแรม และโครงการขนาดใหญ่ เป็นงานคอนโดมิเนียม ส่วนโครงการขนาดใหญ่พิเศษจะมีไม่มากนัก พื้นที่ตั้งโครงการของงานในปัจจุบันนั้น ทุกสำนักงานมีงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดภูเก็ต และในต่างจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงรองลงมา

3. การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิก

           1) สภาพกายภาพและการเข้าถึงที่ตั้งของสำนักงาน จากการวิจัยพบว่าเรื่องสภาพกายภาพของสำนักงาน รูปแบบภายนอกสำนักงาน ห้องรับแขก ห้องประชุมนั้น มีผลต่อการให้บริการลูกค้า โดยแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของสำนักงาน เป็นภาพลักษณ์ของสำนักงาน ทำให้เห็นแนวทางการออกแบบของสำนักงานไปพร้อมกัน และเป็นการสร้างความประทับใจแรก ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าและความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจของลูกค้าเวลาพบกันครั้งแรก
           การเข้าถึงที่ตั้งของสำนักงานมีผลต่อการให้บริการลูกค้า โดยการเข้าถึงที่ตั้งที่สะดวกกับลูกค้า มีความสะดวกสบายในการนัดประชุม ถ้าสำนักงานตั้งอยู่ใจกลางเมืองหรือที่ตั้งที่เด่นชัดสามารถเห็นได้ง่ายนั้น และสำนักงานมีความโดดเด่นออกแบบมีเอกลักษณ์จะสามารถทำให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นได้ สามารถแบ่งเรื่องที่ตั้งการเข้าถึงสำนักงานและลักษณะกายภาพของสำนักงาน ได้ดังนี้
           ตารางที่ 1 ตารางสรุปการเข้าถึงสำนักงานและลักษณะกายภาพของสำนักงาน

ไฟล์:ตาราง 1.jpg

           2) ลูกค้าและการตลาด ลักษณะลูกค้าของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต สามารถสรุปได้ดังนี้
           
           กลุ่มคนต่างชาติ  ซึ่งจะมีความเข้าใจเรื่องวิชาชีพและค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม มีต้องการของงานชัดเจนว่าต้องการทำอะไรและอย่างไร สามารถระบุโปรแกรมความต้องการและมีความเข้าใจได้อย่างชัดเจน
           กลุ่มคนภูเก็ต มีการลงทุนสูง มีความเข้าใจเรื่องวิชาชีพและค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมน้อยกว่าคนต่างชาติ มีความเป็นกันเองและไม่เป็นทางการมาก เป็นระบบครอบครัว แบ่งเป็น 2 ลักษณะ
                - รุ่นก่อตั้งกิจการ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานออกแบบ ยังไม่เข้าใจลักษณะกระบวนการของงานสถาปัตยกรรม มีแต่ต้องการอยากได้งานที่รวดเร็ว จึงมองเรื่องงบประมาณสำคัญกว่างานออกแบบ
                - รุ่นสืบทอดกิจการต่อมา จะมีวิสัยทัศน์ที่ดี ให้ความสำคัญกับงานออกแบบควบคู่ไปกับเรื่องงบประมาณ เข้าใจลักษณะกระบวนการของงานสถาปัตยกรรมมากกว่ารุ่นก่อตั้งกิจการ
           กลุ่มลุกค้าคนไทยต่างถิ่น โดยกลุ่มนี้จะมีไม่มากนัก เป็นนักลงทุนจากจังหวัดอื่น โดยส่วนใหญ่จะมาเป็นทีมและไม่แน่ใจว่าต้องทำโครงการประเภทไหนจึงเข้ามาปรึกษา
           ความเข้าใจของลูกค้าต่อสำนักงานสถาปนิกและการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมในจังหวัดภูเก็ตนั้น ลูกค้ามีความเข้าใจในระดับปานกลางถึงสูง โดยลูกค้าเข้าใจและยอมรับว่าต้องมีสถาปนิกในการออกแบบและมีค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม แต่ยังไม่เข้าใจว่าสถาปนิกทำอะไรให้ได้บ้าง ไม่เข้าใจเรื่องขอบเขตการบริการตลอดจนลักษณะการทำงาน และเรื่องค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม
            ที่มาของการรู้จักสำนักงานของลูกค้าของสำนักงานกลุ่มตัวอย่าง สำนักงานทุกแห่งนั้นลูกค้าเก่าจะแนะนำลูกค้าใหม่มาให้ เป็นการบอกต่อปากต่อปากภายในกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มคนรู้จัก รองลงมาคือ จากความสัมพันธ์ส่วนตัวโดยการรู้จักเจ้าของสำนักงาน และจากการที่ลูกค้าได้ไปเห็นผลงานจริงที่สร้างเสร็จแล้ว สนใจก็ติดต่อเข้ามาทางสำนักงานเอง ส่วนสาเหตุที่ลูกค้าเลือกว่าจ้างสำนักงานนั้น อันดับแรก คือ จากความพึงพอใจในผลงานที่ผ่านมาของสำนักงานและการออกแบบที่ดีของสำนักงาน จึงทำให้เลือกว่าจ้างสำนักงาน อันดับต่อมา คือ ความรับผิดชอบต่อผลงานของสำนักงาน และเรื่องการบริการที่ดีของสำนักงาน
           จุดเด่นหรือเอกลักษณ์เฉพาะของสำนักงานในการวิจัยครั้งนี้ เป็นจุดเด่นของสำนักงานในความคิดของผู้บริหารสำนักงาน โดยที่จุดเด่นหรือเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มตัวอย่าง สามารถสรุปได้ ดังนี้ 
           จุดเด่นด้านการผลงานการออกแบบ เป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ เน้นความคิดแปลกใหม่ และผลงานออกแบบที่ดี
           จุดเด่นด้านความสามารถ มีความสามารถชำนาญเฉพาะทางด้านการออกแบบโรงแรมหรือรีสอร์ท และบ้านวิลล่า มีความสามารถในการทำตามความต้องการของลูกค้าให้ประสบผลสำเร็จได้ และสามารถรับงานทุกขนาดของโครงการที่สำคัญต้องความรับผิดชอบต่อผลงานและมีการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง
           จุดเด่นด้านการบริการ การมีเครือข่ายในการทำงานที่ดีกับหน่วยงานราชการต่างๆ ทำให้การดำเนินการประสานงานต่างๆ สะดวกและรวดเร็ว สามารถให้บริการทั้งงานออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง ตลอดจนการบริหารโครงการได้ และการวางแผนบริหารจัดการงานที่รวดเร็ว การมีบริการเพิ่มเติมในการออกแบบและจัดทำเฟอร์นิเจอร์
           สำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ตทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงาน ทั้งทางรุกและเชิงรับ แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงรับมากกว่า สามารถสรุปได้ดังนี้
                   เชิงรับ จากการแนะนำบอกต่อ การที่ลูกค้าเก่าแนะนำลูกค้าใหม่ การสร้างผลงานจริงที่ดีและลูกค้าไปเห็นจึงสนใจและเข้ามาติดต่อสำนักงานเอง
                   เชิงรุก โดยการนำผลงานเผยแพร่ลงทางเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของสำนักงาน การเข้าพบลูกค้าเพื่อนำเสนอผลงานที่เคยทำมา และการนำผลงานเผยแพร่ลงแมกกาซีน หรือหนังสือต่างๆ
           การตลาดสำหรับสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ตนั้น มีการแข่งขันในจังหวัดภูเก็ตเองไม่สูงมาก ปริมาณงานยังสมดุลกับสำนักงานสถาปนิก แบ่งเป็นการตลาดเชิงรุกและการตลาดเชิงรับ มีแนวโน้มที่ทำการตลาดเชิงรับมากกว่า
           การตลาดเชิงรับ สำนักงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการทำการตลาดเชิงรุก เน้นไปในเชิงรับ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ผลงานออกแบบน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดที่ดี โดยการใช้ระบบความสัมพันธ์ส่วนตัวและการแนะนำบอกต่อปากต่อปาก เน้นการทำผลงานออกแบบที่ดี ให้ผลงานจริงออกมาดี เมื่อผลงานดีแล้วลูกค้าไปเห็นชื่นชอบ หรือเกิดการบอกต่อกันมาอีกที
           การตลาดเชิงรุก สำนักงานที่มีความพร้อมก็จะทำการตลาดเชิงรุก แต่ยังมีน้อยอยู่ มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานทางแมกกาซีน หนังสือต่างๆ หรือทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊กของสำนักงาน การส่งผลงานเข้าประกวดแบบ ตลอดจนมีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ ซีเอสอาร์ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ตัวอย่างเช่น การช่วยงานออกแบบของโครงการในชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
           3) ค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม 
           ในเรื่องค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ แล้วค่าบริการวิชาชีพในจังหวัดภูเก็ตนั้นสามารถเรียกเก็บได้ต่ำกว่าเกณฑ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยควรจะเท่ากันหรือสูงกว่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการวิชาชีพของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ตนั้นไม่มีมาตรฐาน จึงควรมีการจัดทำเกณฑ์พื้นฐานขั้นต่ำขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการตัดราคา
           4) บุคลากร 
           บุคลากรในสายงานสถาปัตยกรรม (สถาปนิก ฝ่ายเขียนแบบ) ในจังหวัดภูเก็ตนั้นมีไม่เพียงพอ โดยยังขาดพนักงานเขียนแบบ บุคลากรไม่ค่อยอยากลงมาทำงานในภูเก็ตเท่าที่ควร เนื่องจากไกลภูมิลำเนาหรือหวาดกลัวภัยธรรมชาติ จังหวัดภูเก็ตเองยังขาดสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรสายสถาปัตยกรรม บุคลากรส่วนใหญ่มาทำงานไม่กี่ปีก็ย้ายกลับภูมิลำเนาไม่ได้อยู่ถาวร และมีปัญหาในการสรรหาบุคลากร บุคลากรมีคุณภาพลดลงและมีเกณฑ์ยังไม่ตรงกับที่สำนักงานต้องการ ส่วนเรื่องอัตราการเข้า-ออก หรือเปลี่ยนบุคลากรนั้น มีการเปลี่ยนถ่ายบุคลากรน้อย เนื่องจากสำนักงานรับคนน้อยหรือมีการทำงานอยู่กันแบบครอบครัว มีบรรยากาศการทำงานที่เป็นกันเองผ่อนคลาย และการบริหารทีมงานที่ดี การสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี
          5) การทำงานและการประสานงาน 
          เรื่องความเข้าใจในข้อกฎหมายท้องถิ่นในส่วนการออกแบบนั้น มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมจากหลายหน่วยงานและหลายฉบับ ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องกันทำให้เกิดความยุ่งยาก และการตีความกฎหมายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีการตีความต่างกันจึงเกิดความสับสน ส่วนการร่วมมือส่งต่องานกับสำนักงานสถาปนิกอื่นหรือพันธมิตรทางธุรกิจนั้น สำนักงานมีการส่งต่องานหรือทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ หากกำลังคนไม่เพียงพอ ไม่ต้องการเสียลูกค้าและเสียชื่อเสียง จึงหาทีมงานมาสนับสนุน โดยต้องเป็นสำนักงานที่เหมาะสม หรือเป็นสำนักงานที่มีความถนัดเฉพาะทาง เป็นการเกื้อหนุนกันเพื่ออนาคตต่อไป 
           6) การเข้าถึงข้อมูล 
           เรื่องการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้สำนักงานส่วนใหญ่มีปัญหาเนื่องจาก บางครั้งการเข้าถึงข้อมูลทาง internet อาจมีการผิดพลาดของข้อมูลได้ จึงต้องมีการกรองข้อมูล ในส่วนข้อมูลเชิงเทคนิค รายละเอียดการก่อสร้างต่างๆ ทาง supplier ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพียงพอ และแหล่งความรู้ ศูนย์ข้อมูลต่างๆ วัสดุ ข้อมูลในเชิงเทคนิคอยู่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าถึงข้อมูล
          7) ความเปลี่ยนแปลงของการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของจังหวัดภูเก็ต ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา พ.ศ.2546-2551 
          ทั้งปริมาณงาน สถานการณ์เศรษฐกิจและการเติบโตของธุรกิจการก่อสร้าง จำนวนสำนักงานสถาปนิก โดยรวมมีการเติบโตที่สูงขึ้นในช่วงนี้ งานขนาดมีโครงการใหญ่ขึ้น อาคารไม่สูงมากเป็นแนวราบ หลังจากเกิดภัยธรรมชาติสึนามิ ในปี พ.ศ.2547 งานและการก่อสร้างกลับมาเติบโตอย่างทวีคูณอีกครั้ง เป็นยุคที่บ้านจัดสรรมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยงานงานส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและรีสอร์ท อาคารพาณิชยกรรม เป็นงานออกแบบที่พักอาศัยชั้นดี โดยการลงทุนยังเป็นการลงทุนจากนักธุรกิจท้องถิ่นที่ดำเนินกิจการเอง ยังมีความสามารถในการซื้อ-ขายที่ดิน แต่ลูกค้ายังไม่เข้าใจในวิชาชีพสถาปนิกมากนักยังไม่รู้จักว่ามีสถาปนิกและทำอะไรได้บ้าง กลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจะเป็นยุโรปและสแกนดิเนเวีย
          ในช่วง 1-5 ปีที่ผ่านมา พ.ศ.2551-2556 นั้น ทั้งปริมาณงาน สถานการณ์เศรษฐกิจและการเติบโตของธุรกิจการก่อสร้าง และจำนวนสำนักงานสถาปนิก โดยรวมมีการเติบโตที่สูงขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน ประเภทของอาคารเป็นอาคารแนวสูงมากขึ้นอาคารเป็นไปแนวดิ่งเนื่องจากมูลค่าที่ดินแพงขึ้น นักลงทุนแบรนด์ใหญ่จากกรุงเทพฯ ลงมาเปิดตลาดทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม นักลงทุนท้องถิ่นก็พยายามต่อสู้กับแบรนด์ใหญ่ เกรดของโรงแรมเริ่มเปลี่ยนไปมีโรงแรมระดับ 2-3 ดาวเกิดขึ้นมากเพื่อตอบรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ คือ ลูกค้าชาวจีน เกาหลีและรัสเซีย ซึ่งมีกำลังจ่ายไม่มาก ส่วนสำนักงานสถาปนิกมีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่มีขนาดสำนักงานเล็กลง และมีสำนักงานสถาปนิกอิสระ (freelance) เกิดเพิ่มขึ้น และสำนักงานสถาปนิกต่างชาติลดลงไปมาก ลักษณะการให้บริการมีการเพิ่มขอบเขตงานเป็นรับเหมาก่อสร้างหรือบริหารงานก่อสร้างอีกด้วย

สรุปปัญหาและอุปสรรค ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต

จากการวิจัยสามารถแบ่งเป็นประเด็นสรุปปัญหาและอุปสรรค ได้ดังต่อไปนี้

1. เรื่องสภาพทั่วไปทางกายภาพ

     จังหวัดภูเก็ตมีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการทำงานออกแบบและงานก่อสร้าง เนื่องจากลูกค้าต้องการให้งานเสร็จทันฤดูกาลท่องเที่ยว (high season ตรงกับฤดูร้อน ช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย.) จึงมีระยะเวลาการทำงานในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season ตรงกับฤดูฝน ช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค.) ซึ่งเป็นช่วงมรสุมฝนตกเกือบตลอดเวลา ทำให้ควบคุมงานออกแบบก่อสร้างได้ลำบากต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และความลาดชันของพื้นที่ ปัญหาดินถล่ม มีขุมเหมืองเก่าหลายแห่งมีผลกับการออกแบบที่ยาก และพื้นที่ตั้งที่ติดทะเลจะมีปัญหาเรื่องวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ต้องเลือกใช้วัสดุที่ต้องทนเกลือด้วย มีทรัพยากรและวัสดุให้เลือกใช้น้อย

2. เรื่องลูกค้า

     ลูกค้าท้องถิ่นภูเก็ตยังไม่เข้าใจขอบเขตงานและค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ลูกค้าต้องการได้งานที่ดี วัสดุที่ดี แต่ราคาถูก และมีการเปลี่ยนแปลงแบบบ่อย ลูกค้าท้องถิ่นภูเก็ตจะมีการทำงานแบบครอบครัว ความคิดต่างระหว่างคน 2 รุ่น คือ รุ่นก่อตั้งกิจการ และรุ่นสืบทอดกิจการต่อมา ทำให้การตัดสินใจจึงมาจากหลายคนเกิดความสับสนในการทำงานได้ และบางครั้งมีความต้องการที่นอกเหนือตามที่กฎหมายกำหนด

3. เรื่องค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรม

     มาตรฐานค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมแต่ละสำนักงานไม่เท่ากันภายในจังหวัดภูเก็ต ไม่มีเกณฑ์ชัดเจน มีการตัดราคา แข่งขันราคา และยังต่ำกว่าเกณฑ์สมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับขอบเขตงานถือว่ายังไม่เหมาะสม

4. เรื่องบุคลากร

     บุคลกรในสายงานสถาปัตยกรรมไม่ค่อยอยากลงมาทำงาน เนื่องด้วยภัยธรรมชาติและไกลภูมิลำเนา  โดยหาบุคลากรที่เก่งและดี ตรงตามเป้าหมายของสำนักงานได้ยาก ยังมีการขาดแคลนบุคลากร และมีการเข้า-ออกของบุคลากรทุกช่วง 2 ปีตลอด ทำให้ต้องมีการจัดระบบการทำงานใหม่

5. เรื่องการทำงานและการประสานงาน

     การสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ยังมีความเข้าใจในการสื่อสารคลาดเคลื่อนกัน และเรื่องความคลาดเคลื่อนของแบบก่อสร้าง ความเข้าใจไม่ตรงกันทั้งของลูกค้าและผู้รับเหมา ตลอดจนการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ราชการมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

6. เรื่องการเข้าถึงข้อมูล

     ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนข้อมูลเชิงเทคนิค และรายละเอียดการก่อสร้างทาง supplier ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพียงพอ แหล่งความรู้ ศูนย์ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุ ข้อมูลในเชิงเทคนิคต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ไม่สะดวกในการเข้าถึงข้อมูล และผลงานตัวอย่างที่ต้องไปดูงานตั้งอยู่ที่อื่นทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง

สรุปปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต

จากการวิจัยสามารถสรุปปัจจัยแยกเป็น ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในสำนักงาน ได้ดังนี้

1. ปัจจัยภายนอก

     เศรษฐกิจต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจโลกและของประเทศ มีผลกระทบบ้าง ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำจะมีผลกระทบกับโครงการขนาดใหญ่อาจถูกระงับ ปัจจัยด้านลงทุนก่อสร้างอาคาร และการท่องเที่ยวในจังหวัดมีผลกับการก่อสร้างในจังหวัดภูเก็ต การเมืองและภัยธรรมชาติ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองนานาชาติ หากเหตุการณ์ไม่ค่อยดีนักลงทุนก็ขาดความเชื่อมั่น และเรื่องการควบคุมค่าบริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมในจังหวัดทำได้ยากเนื่องจากไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ตลอดจนปัญหาการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งผลกระทบกับการทำงานของสำนักงานสถาปนิก และตลาดนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปมีผลกับงานออกแบบและคุณภาพงาน เช่น เมื่อก่อนเมื่อตลาดลูกค้าชาวยุโรปจะต้องการความสงบและการพักผ่อน การออกแบบจึงเป็นไปเพื่อการพักผ่อน แต่ปัจจุบันเทรนเปลี่ยนเป็นตลาดลูกค้าชาวจีน หรือชาวรัสเซีย ความต้องการจึงเปลี่ยน คือ ต้องการมีห้องพักราคาไม่แพงและไม่เน้นการพักผ่อน เทรนการออกแบบจึงมีการเปลี่ยนตามตลาดนักท่องเที่ยว

2. ปัจจัยภายในสำนักงาน

     การบริหารงานให้เหมาะสมกับบุคลากรเพื่อให้ทำงานเสร็จทันตามเวลาและมีคุณภาพ  การทำงานต้องทำให้เร็วเนื่องจากงานต้องเปิดบริการให้ทันหน้าฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) ในเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ และมีคุณภาพลดลง การสรรหาบุคลากรที่ดีและกระตือรือร้น ที่สามารถรับแรงกดดันได้น้อยลง และต้องมีการพัฒนาบุคลากร เรื่องภาษาอังกฤษมีความสำคัญในการสื่อสารกับลูกค้า จำเป็นต้องให้ความสำคัญ การมีเครือข่ายที่ดีรู้จักกลุ่มคนหลากหลายหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะส่งผลดีต่อการดำเนินการของสำนักงาน และสำนักงานในจังหวัดภูเก็ตควรมีแนวทางเฉพาะเป็นของตนเอง

เสนอแนะแนวทางการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต

จากการวิจัยสามารถสรุปแนวทางการการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของสำนักงานสถาปนิกในจังหวัดภูเก็ต โดยเรียงจากลำดับความสำคัญ ได้ดังต่อไปนี้

     1. ควรมีมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้นและเป็นสากล มีความเป็นมืออาชีพ สามารถทำงานร่วมกับต่างชาติได้ดี 
     2. ควรมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดี ทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานที่จังหวัดภูเก็ต
     3. สำนักงานควรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การออกแบบรีสอร์ท หรือโรงแรม เป็นพิเศษ
     4. สำนักงานควรจัดการงานได้รวดเร็วแต่มีคุณภาพดี มีความคล่องตัวสูง และควรมีความสามารถหลายๆ อย่าง
     5. สำนักงานควรมีผลงานออกแบบที่ดี และมีจุดเด่นเอกลักษณ์ของสำนักงาน
     6. ควรมีการบริการที่ดี และบริการให้เต็มที่แม้หลังจบงานแล้วก็ตาม 
     7. สำนักงานต้องสร้างความน่าเชื่อถือ มีซื่อสัตย์และความจริงใจ มีความรับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวได้เสมอ
     8. สำนักงานจำเป็นที่ต้องมีเครือข่ายสัมพันธ์ที่ดี รู้จักคนให้ครบทุกแวดวง เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานต่อไปในอนาคต
     9. ควรคำนึงถึงการสร้างตราสินค้า (Brand) การทำสำนักงานให้เป็นที่รู้จัก
     10. สำนักงานควรเรียนรู้การปรับตัวให้ทันตามเทคโนโลยีเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานออกแบบงานสถาปัตยกรรม

กิตติกรรมประกาศ

     งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก “ทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์สำหรับนิสิต” (CU.GRADUATE SCHOOL THESIS GRANT) บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางผู้วิจัย นางสาวพิมพวรรณ ภักดีสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก รศ.นท.ไตรวัฒน์  วิรยศิริ รน. สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้


บรรณานุกรม

ภาษาไทย

     ชัชวาล วงศ์ไชยบูรณ์. การบริหารจัดการสำนักงานสถาปนิกจัดตั้งใหม่ : กรณีศึกษาสำนักงานสถาปนิกที่จัดตั้งใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2543-2549, ระดับปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
     ไตรวัฒน์ วิรยศิริ และกุลธิดา สมอดิศร, กลยุทธ์การตลาดสำหรับสำนักงานสถาปนิก. กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการหมายเลข 23 ของภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
     ไตรวัฒน์ วิรยศิริ และคณะ. รูปแบบการบริหารจัดการสำนักงานสถาปนิก, กรุงเทพฯ : เอกสารวิชาการหมายเลข 22 ของภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. 
     ผุสดี ทิพทัส. เกณฑ์ในการออกแบบสถาปัตยกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.
     ผุสดี ทิพทัส. สถาปนิกสยาม : พื้นฐาน บทบาทผลงานและแนวคิด. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม, 2539.
     ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ. การบริหารสำนักงานแบบใหม่. กรุงเทพฯ : บริษัทธีระฟิล์ม และไซเท็กซ์ จำกัด, 2544.
     สุมลทิพย์ ฟังกังวานวงศ์. รูปแบบการจัดการสำนักงานสถาปนิกภาคเอกชนในประเทศไทย :  กรณีศึกษาสำนักงานสถาปนิกในช่วงปี พ.ศ.2538-2545, ระดับปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
     อวยชัย วุฒิโฆสิต. การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.
       

ภาษาอังกฤษ

     Denkin, Joseph A. Architectect’s Handbook of Professional Practice. 13th Ed. New York : John Wiley & Son, 2001.
     Emmitt, Stephen. Architectural Management in practice a competitive approach. Malaysia : Longman,1999.
เครื่องมือส่วนตัว