การตอบตามความปรารถนาของสังคม

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น
          งานวิจัยเชิงปริมาณนิยมใช้การรายงานตนเอง (self-report) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ตอบ อาจเนื่องด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องความสะดวก ความเข้าใจง่าย ทั้งในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์แปลผลทางสถิติ นอกจากนั้น การรายงานตนเองยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการวัดด้านสังคมศาสตร์ (social sciences) และด้านจิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) เนื่องจากการนำการรายงานตนเองมาใช้ทำให้ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้ง และกว้างขวาง ครอบคลุมปรากฏการณ์อดีต ปัจจุบันและอนาคตของผู้ตอบได้เป็นอย่างดี (ดวงเดือน พันธุนาวิน, 2550) แต่การนำการรายงานตนเองมาใช้ในการบรรยายความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง ยังคงมีข้อสงสัยถึงความถูกต้องหรือความตรง (validity) ของข้อมูลที่ได้ (Hindelang, Hirschi, and Weis, 1979; Elliott and Ageton, 1980 อ้างถึงในพีระพงษ์ วงศ์อุปราช, 2550) ซึ่งความคลาดเคลื่อนในการตอบที่เกิดขึ้น อาจเป็นผลมาจากการตอบตามความปรารถนาของสังคม เพราะนอกจากความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดจากข้อคำถามแล้ว ความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกประการหนึ่ง คือ ความคลาดเคลื่อน (error) หรือความลำเอียง (bias) ที่เกิดจากผู้ให้ข้อมูลหรือผู้ตอบที่ถูกถามในประเด็นที่อ่อนไหว (sensitive) เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว หรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้สารเสพติด (Welte and Russell, 1993) เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้หลีกเลี่ยงความลำเอียงของผู้ตอบได้ยาก ดังนั้นในการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าว ตัวแปรที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ “การตอบตามความปรารถนาของสังคม (social desirability responding: SDR )”ซึ่งหมายถึง ความโน้มเอียงในการให้คำตอบของบุคคล ในการรายงานเกี่ยวกับบุคลิกภาพของตนเอง โดยเลือกตอบข้อคำถามที่เป็นความคิด ความรู้สึกที่ดีที่สังคมปรารถนา แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็เลือกแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม โดยตั้งใจให้ข้อมูลเกินจริง เพื่อทำให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งในการตอบบุคคลมักคำนึงถึงบรรทัดฐานการยอมรับของคนในสังคม
          ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจาก SDR นอกจากจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลแล้ว ยังส่งผลต่อการแปลผลการวิเคราะห์ทางสถิติ Ganster et al. (1983) กล่าวว่า SDR ทำให้เกิดความสัมพันธ์ลวงหรือปลอมระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม (King and Brunner, 2000) ส่งผลต่อค่าความตรงของแบบสอบถาม ทั้งความตรงเชิงทำนาย และความตรงเชิงจำแนก ดังนั้น การนำแบบวัดที่แก้ไขความบกพร่องมาใช้น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่าจะพยายามหลีกเลี่ยง หรือไม่สนใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนั้น เพราะถ้าเกิดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจาก SDR อาจจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคำตอบที่ได้ และส่งผลต่อความตรงในการตีความผลการวิจัย เพราะหากนำคำตอบนี้ไปวิเคราะห์แปรผลทางสถิติก็จะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

 1. ดวงเดือน พันธุมนาวิน. (2550). Pro และ Cons ในการวัดด้วยมาตรประเมินรวมค่า โดยให้ผู้ตอบ	รายงานตนเอง. วารสารพัฒนาสังคม. ปีที่: 9 ฉบับที่: 2 เลขหน้า 94-117. 
 2. พีระพงษ์ วงศ์อุปราช. (2550). ความคลาดเคลื่อนจากอคติที่อาจมีนัยสำคัญในการวิจัยด้านอาชญา	วิทยา.คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.วารสารสหศาสตร์. ปีที่: 	7 ฉบับที่: 2 เลขหน้า: 95-112.  
 3. Ganster , D.C., Hennessy, H.W., & Luthans, F. (1983). Social Desirability Response Effects: Three Alternative Models. Academyo f Management Journal. 26, 2, 321-331.
 4. King, M. & Bruner, G. (2000). Social desirability bias: a neglected aspect of validity testing. Psychology and Marketing, 17, 79–103.
 5. Welt, J. W. & M. Russell (1993). "Influence of Socially Desirable Responding in a Study of Stress and Substance Abuse." Alcoholism: Clinical and Experimental Research 17: 758-761.
เครื่องมือส่วนตัว