กลวิธีการเดี่ยวซอสามสายของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน

จาก ChulaPedia

ข้ามไปที่: นำทาง, สืบค้น

เนื้อหา

การเดี่ยวซอสามสาย

มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย ได้อธิบายถึงการเดี่ยวว่า

การเดี่ยวเป็นการบรรเลงชนิดหนึ่งซึ่งใช้เครื่องดนตรีบรรเลงแต่ อย่างเดียว (ไม่นับเครื่องประกอบจังหวะ) การบรรเลงชนิดนี้มีความประสงค์ประสงค์อยู่ 3 ประการ คือเพื่ออวดทาง (วิธีดำเนินของทำนอง) เพื่ออวดความแม่นยำ และฝีมือเพราะฉะนั้นที่เรียกว่าการเดี่ยวจึงมิได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียงการบรรเลงคนเดียวต้องหมายถึงทางก็สมควรจะเป็นทางเดี่ยวเช่นมีโอดพัน หรือวิธีการโลดโผนต่าง ๆ ตามสมควรแก่เครื่องดนตรีนั้น ๆ เพื่อให้ถูกความประสงค์ทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น [1]

ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสีที่มีมาแต่โบราณ มีรูปทรงที่สง่างาม อีกทั้งยังมีลักษณะเสียงที่ทุ้ม นวล และกังวาน ประสานเสียงได้ สามารถเลียนเสียงคนร้องได้เป็นอย่างดี ซอสามสายจึงมีบทบาทและทำหน้าที่บรรเลงคลอร้องในวงขับไม้ และวงมโหรี อีกทั้งซอสามสายยังสามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวเพื่ออวดทักษะความสามารถได้อีกด้วย โดยสามารถแสดงอรรถรสของเสียงในท่วงทำนอง เที่ยวโอดเพื่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ ซาบซ่าน ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอารมณ์โศก

การสืบทอดซอสามสายของอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน

อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติปีพุทธศักราช 2530 สาขาคีตศิลป์ไทย และเป็นเอตทัคคะด้านซอสามสาย อาจารย์เจริญใจได้รับการถ่ายทอดวิชาซอสามสายมาจากบรมครูทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ครูหลวงไพเราะ เสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) พระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ซึ่งบรมครูทั้ง 3 ท่านนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องของลีลา อารมณ์ และกลวิธีการบรรเลงที่งดงามแตกต่างกันไป อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ได้เลือกนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรมครูทั้ง 3 ท่าน มาปรับใช้ให้เหมาะสมแก่ตัวอาจารย์จนเป็นรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งการสืบทอดวิชาซอสามสายของอาจารย์เจริญใจ ถึงลูกศิษย์ อาจารย์มีรูปแบบขั้นตอนที่ชัดเจนในการสืบทอด โดยอาจารย์จะถ่ายทอดเพลงตามทักษะของผู้บรรเลง จากนั้นอาจารย์จึงลงรายละเอียดให้งามอีกครั้ง

งานประพันธ์ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงพญาโศก พญาครวญ พญารำพึง สามชั้น กรณีศึกษาอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน

จากการศึกษางานประพันธ์ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงพญาโศก พญาครวญ พญารำพึง สามชั้น กรณีศึกษาอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน พบว่า มีโครงสร้างการประพันธ์เหมือนกันทั้ง 3 เพลง เนื่องจากทั้ง 3 เพลงนี้เป็นเพลงท่อนเดียว ผู้ประพันธ์จึงวางทำนองเป็นทางโอด และทางพัน ครบเป็น 2 เที่ยวกลับ โดยในทางโอดพบว่ามีลีลาของท่วงทำนองที่ช้า ใช้น้ำหนักเสียงที่ดัง และค่อย เพื่อให้เกิดอารมณ์ตามบทเพลงโดยแทรกกลวิธีพิเศษ 10 ประเภท คือ พรมจาก สะบัด สะอึก รูดสาย ทดนิ้ว นิ้วชั่ง กระทบเสียง นิ้วนาคสะดุ้ง ยักจังหวะ และผันเสียง ส่วนในทางพันพบสำนวนกลอนที่นำมาจากสำนวนปี่ในเพลงพญาโศก พญาครวญ พญารำพึง สามชั้น ร่วมกับทำนองเดี่ยวซอสามสาย เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของทำนองหลักกับทางเดี่ยวพบว่าการเคลื่อนที่ของทำนองเดี่ยวส่วนใหญ่มีทิศทางเดียวกับทำนองหลัก แต่บางช่วงมีสำนวนสวนทางกับทำนองหลักเนื่องจากการวางสำนวนของผู้ประพันธ์ ทางเสียงของทั้ง 3 เพลงนี้มีการเปลี่ยนทางเสียงตลอดทั้งเพลง โดยทั้ง 3 เพลงจะเริ่มต้นด้วยทางเพียงออบน โดยนำส่วนท้ายเพลงมาเป็นส่วนขึ้นทำนอง เมื่อลงจบเพลงมีการเปลี่ยนทางเสียงจากทางนอกเป็นทางเพียงออบนก่อนจะจบเพลงเหมือนกันทั้ง 3 เพลง

ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงพญาโศก พญาครวญ พญารำพึง สามชั้น กรณีศึกษาอาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน นับว่าเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะ น่าฟัง และรวมเอากลวิธีพิเศษการบรรเลงเดี่ยวไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลงานแสดงความสามารถทางด้านดุริยางคศิลป์ได้เป็นอย่างดี


อ้างอิง

  1. มนตรี ตราโมท. 2545. คำบรรยายวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
เครื่องมือส่วนตัว